ค้นหาบล็อกนี้

13 กุมภาพันธ์ 2553

ผลกระทบจากการเล่นเกมออนไลน์

เกมส์คอมพิวเตอร์...จำเลยสังคมแต่ผู้เดียวจริงหรือ ?

ข่าวน่าสลดหดหู่ของเยาวชนในสังคมไทยเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากตำรวจพบศพโชเฟอร์แท็กซี่ผู้โชคร้ายนอนจมกองเลือดกับบาดแผลที่เกิดจากการทิ่มแทงด้วยของมีคมหลายสิบแผล ถึงแม้คดีจะเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ธรรมดาที่ปรากฏให้เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป แต่สิ่งที่สร้างความตื่นตระหนกและน่าวิตกอย่างยิ่งก็คือ ผู้ที่ก่อคดี เป็นเพียงเด็กวัยรุ่นที่มีอายุเพียง 19 ปี เท่านั้น ได้ใช้มีดปอกผลไม้เพียงเล่มเดียว ในการก่อคดีสะเทือนขวัญในครั้งนี้ และสิ่งที่สร้างความน่ากลัวและหวั่นวิตกจากเหตุที่เกิดขึ้นก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของเด็กวัยรุ่นผู้ก่อคดี ที่บอกถึงเหตุผลของการกระทำเรื่องโหดร้ายทารุณเช่นนี้ เพราะต้องการกระทำเลียนแบบเกมส์หนึ่งที่มีชื่อ GTA (Grand Theft Auto)


เกมส์ GTA (Grand Theft Auto) เป็นเกมส์ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ในระยะแรกเป็นเกมส์ที่เล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้การเชื่อมต่อ แต่ปัจจุบันกระแสเกมส์ออนไลน์มีเข้ามามาก ทำให้มีการเพิ่มเติมให้ใช้กับระบบออนไลน์ได้ ซึ่งเกมส์นี้เป็นแนว Shooting มุมมองบุคคลที่สาม ในเนื้อเรื่องผู้เล่นจะสวมบทเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยจะต้องทำภารกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ เพื่อสร้างชื่อเสียงและอำนาจ ปัจจุบันมีจำนวน 2 ภาค ซึ่งทั้ง 2 ภาคนั้น แม้จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่รูปแบบที่เหมือนกันก็คือ รูปแบบของการเล่นอิสระที่สามารถทำอะไรก็ได้ในเกมส์ ทั้งในส่วนที่ถูกกฎหมาย เช่น ขับแท็กซี่ ขับรถพยาบาล และขับรถตำรวจ โดยจะได้เงินในแต่ละครั้งที่ดำเนินงานสำเร็จ และในส่วนที่ผิดกฎหมาย เช่น การทำร้ายคน ฆ่าชิงทรัพย์ ขโมยรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ ปล้น และซุ่มยิงทำร้าย เป็นต้น


เกมส์นี้ได้รับการยืนยันว่า เป็น 1 ใน 10 เกมส์อันตรายที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการซื้อมาให้ลูกเล่น ตามที่อัยการสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยขึ้น เมื่อปี 2550 นอกจากเกมส์นี้ก็มีเกมส์อย่าง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (The Godfather) คิลเลอร์ 7 (Killer 7) และ เรสซิเดนต์ อีวิล 4 (Resident Evil 4) อีกด้วย (อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์)

ปัจจุบันเกมส์หลากหลายเกมส์ ต่างล้นทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะเกมส์แนวขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคม อย่างเช่นเกมส์เกี่ยวกับการขโมย (เกมส์ GTA ถือเป็นเกมส์เกี่ยวกับการขโมยเกมส์หนึ่ง) เกมส์เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เกมส์สร้างความแตกแยกและสร้างความรุนแรง เป็นต้น และด้วยเพราะประเทศไทยมองข้ามอุตสาหกรรมเกมส์ จึงขาดกระบวนการดูแลอย่างเหมาะสม ทำให้รูปแบบเกมส์ที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ถูกนำเสนอเข้ามาและซื้อขายได้อย่างเกลื่อนกลาดตามร้านขายเกมส์ทั่วไป ไม่ว่าใครที่ไหน จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถหาซื้อมาไว้เป็นของตัวเองได้ไม่ยาก


ปัจจุบันมาตรการเกี่ยวกับเกมส์นั้น ออกมาเพียงเพื่อเยียวยาปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเกมส์ แต่ไม่ได้มองถึงแหล่งที่มา การนำเข้า และการควบคุม ซึ่งก็ถึงเวลาสักทีที่จะต้องมีมาตรการอย่างจริงจัง สำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติซ้ำรอยอีกเป็นครั้งที่สอง


อย่างไรก็ดี จากข่าวที่เกิดขึ้นจะกล่าวโทษสื่อเกมส์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น อาจดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะจากอายุของเยาวชนในวัย 19 ปี น่าจะเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะในการกระทำเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เกือบจะเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ จากข่าวเยาวชนผู้ก่อคดี ก็ดูมีความสามารถในการเรียน เพราะเรียนในสายวิทย์ – คณิต มีอุปนิสัยเรียบร้อย ซึ่งยากที่จะเห็นว่าเด็กคนนี้กำลังมีปัญหาจนต้องก่อคดีดังกล่าว


เคยมีข่าวคราวแนวเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กที่เรียนดี แต่ชอบไปขโมยของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่าง ๆ นับว่าเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับข่าวนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่เด็กที่ก่อคดี ถ้าไม่ใช่เด็กที่ติดยาหรือมีปัญหากับสังคม ก็มักจะเป็นเด็กที่เรียนดี มีความสามารถ แต่ต้องประสบกับภาวะความเครียดรุมเร้า หรือเป็นเด็กที่เก็บกด ขาดความรักความอบอุ่น ความอยากได้อยากมี และพ่อแม่ก็ไม่เคยรับรู้ว่าลูกหลานของตนมีปัญหาส่วนตัว ประจวบกับแนวทางการให้คำปรึกษากับนักเรียนในโรงเรียน ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากองค์กร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ทำให้เด็กจำเป็นที่จะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของตน จากแรงกดดันภายนอก ความคาดหวังของผู้ปกครอง และความมุ่งหวังของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่บทสรุปก็จบลงได้ไม่ดีนัก นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งคงเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นจุดร่วมระหว่างเด็กที่ชอบขโมย เด็กติดยา เด็กฆ่าคนตาย และฆาตกรเด็ก ที่เกิดจากเด็กที่เรียนดีและมีความสามารถนั้นก็คือ ภาวะความเครียด ที่เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวได้นั้นเอง


“ผมยืนยันว่าไม่ได้ติดยาเสพติดหรือติดการพนัน แต่สาเหตุที่ตัดสินใจทำ เพราะเห็นในเกมส์แล้วอยากลองทำดูบ้าง คิดว่ามันง่าย ทุกวันนี้ที่บ้านให้มาใช้วันละ 100 กว่าบาท แต่ก็ไม่พอ แต่ไม่ได้บอกให้ทางบ้านรู้ ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพครอบครัว ที่พ่อชอบดื่มสุราจนเมามาย และมาตบตีทำร้ายแม่ ” (อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์)


นี่คือคำกล่าวส่วนหนึ่งของเยาวชนผู้ก่อคดีสะเทือนขวัญในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสภาพครอบครัวที่ไม่อบอุ่น อาจเป็นตัวกระตุ้นเด็กให้ก่อคดี เช่นเดียวกับความต้องเงินเพื่อไปเล่นเกมส์ อันเป็นการช่วยบำบัดอารมณ์ที่ขุ่นมัวของเขาได้ตามที่เขาคิดไว้


เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาในระดับของการปรับตัว ถ้าเรื่องทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น หรืออาจจะมีปัญหาที่หนักกว่า อย่างปัญหาทางจิต ซึ่งการที่เด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องที่ทำได้เฉพาะในเกมส์กับเรื่องที่ทำได้ในโลกของความจริง นับว่าเป็นปัญหาทางจิตที่ควรได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในที่นี้ต้องดูกันต่อไป เพราะถึงอย่างไรเด็กผู้ก่อคดีจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเช็คความผิดปกติทางจิตก่อนจะเข้ารับโทษจากการกระทำความผิด ซึ่งเป็นที่น่าเศร้า เพราะอายุในวัย 19 ปีนั้น เป็นวัยที่ต้องรับโทษตามกฎหมายแบบเดียวกับผู้ใหญ่ ถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับเยาวชนในวัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่เช่นนี้


สำหรับมาตรการที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดคดีนี้ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิตจัดสรรทีมงานในการดูแลปัญหาเกมส์ที่เป็นอันตราย และประสานกับกระทรวงไอซีที ในการพัฒนาเกมเพื่อคุณธรรมอันส่งผลให้เด็กที่เล่นมีจิตใจที่ดี (อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์) ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นมาตรการที่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่คุ้มค่า หรือจะเป็นเพียงความไร้ค่าของนโยบายที่ดูไร้สาระทั่วไป


อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเรื่องนี้เกมส์จะดูเป็นเหมือนแพะรับบาปของสังคม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในวัยชั้นประถมและมัธยม เกมส์หรือแม้แต่สื่อที่นำเสนอต่าง ๆ ภายในคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมหมายถึงเครื่องเล่นเกมส์หลากชนิด และโทรทัศน์ ต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่อาจสร้างปัญหาทางพฤติกรรมให้กับเด็กได้ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ การดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์ทีละหลาย ๆ ชั่วโมง ก็อาจทำให้เด็กซึมซับการแสดงออกที่ปรากฎอยู่ภายใน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ เมื่อตัวเกมส์หรือสื่อนั้น ๆ กลายเป็นแบบอย่างที่มีอิทธิพลสำหรับเด็ก ๆ


นอกจากข่าวนี้ ย้อนหลังไปเพียงไม่กี่เดือนก็เคยมีข่าวที่เด็กชั้น ป.5 รุมโทรมเด็กหญิงวัยเพียง 7 ขวบ (อ้างอิงโดย น.ส บุญญาภรณ์ โพธิสกุลวงศ์ ซึ่งนำมาจาก นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2551) นับเป็นลักษณะของการเลียนแบบที่คล้ายคลึงกัน


ทั้งนี้ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้ให้ข้อแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันการเลียนแบบเกมส์ที่ไม่เหมาะสมของเด็ก สำหรับพ่อแม่เอาไว้ว่า

  1. ต้องไม่ให้เด็กเล่นเกมส์มากเกินไป คือ ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมงต่อวัน

  2. ต้องไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่แต่กับเกมที่แสดงถึงเนื้อหาที่รุนแรง แต่ควรให้เล่นเกมส์ที่มีความหลากหลาย

  3. ต้องพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กให้มากขึ้น และไม่ควรสนับสนุนให้มีคอมพิวเตอร์อยู่ในห้องส่วนตัว แต่ควรนำมาตั้งไว้ในห้องนั่งเล่นซึ่งสามารถที่จะควบคุมได้ง่ายกว่า

(อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์)


สำหรับข้าพเจ้า เกมส์อาจเป็นได้ทั้งมิตรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและเกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็อาจเป็นภัยร้ายที่ค่อยบั่นทอนสุขภาพ และกลืนกินบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งปัญหาพฤติกรรมนี้อาจไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเดียว ที่เป็นผลกระทบจากการเล่นเกมส์อย่างไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องโรคสมาธิสั้น ปัญหาทางอารมณ์ และปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง ก็อาจเป็นสิ่งที่ เกิดขึ้นจากการเล่นเกมส์มากเกินไปก็เป็นได้ (อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ )



ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใส่ใจกับมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมเกมส์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกมส์ต่างๆ เพื่อสร้างแผนป้องกันที่ดีในชั้นต้น และควรตระหนักต่อการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองที่เหมาะสมกับเด็ก เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงเมามัวกับการเล่นเกมส์มากเกินไป ซึ่งเมื่อติดเกมส์ก็ไม่ต่างอะไรกับการติดสิ่งเสพติดอื่นๆ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรตระหนักเฉพาะเด็ก พ่อแม่ คุณครู โรงเรียน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เท่านั้น เพราะในเมื่อเด็กและเยาวชนถือเป็นขุมกำลังและอนาคตที่จะชี้ชะตาความเป็นอยู่ของประเทศต่อไปในอนาคต ดังนั้นทุกคนจึงควรมีส่วนร่วมในการร้องเรียก เฝ้าระวัง เสนอแนะ และสอดส่องดูแลถึงองค์กรที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่ได้ตั้งไว้ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนไทย รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ไม่ให้ประสบกับเรื่องเลวร้ายเช่นนี้อีก แม้จะดูเป็นภาพในความฝันที่เลือนลาง แต่ถ้าร่วมมือกันอย่างจริงจังอาจทำให้มันเป็นไปได้ ข้าพเจ้าเชื่อเช่นนั้นจากใจจริง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น